ประชาสัมพันธ์ การรับประทานยาพาราเซตามอลที่ถูกต้อง
ยาพาราเซตามอลถูกจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนใช้ยาในการบรรเทา
อาการเจ็บป่วยของตนเองเบื้องต้น โดยยาพาราเซตตามอลนั้นเป็นชื่อสามัญทางยาทั้งนี้ยาพาราเซตามอลยังมีชื่อสามัญทางยา
อีกชื่อหนึ่งว่า “อะเซตามิโนเฟน”
ข้อควรทราบคือ ยาพาราเซตามอลนั้นมีชื่อทางการค้า หรือชื่อยี่ห้ออีกหลากหลายชื่อ ผู้ใช้ยาควรอ่านชื่อสามัญทางยาก่อนใช้ยาทุกครั้งว่ายาชนิดนั้นมียาพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพื่อป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อนเกินขนาดการรักษาที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้
สรรพคุณของยาพาราเซตามอลคือ เป็นยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการปวดและลดไข้ โดยสรรพคุณของยาพาราเซตามอล
ในการบรรเทาอาการปวดนั้นจะสามารถใช้ในการบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางได้ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
ปวดบาดแผลเล็กน้อย เป็นต้น
วิธีการรับประทานยาพาราเซตามอลที่ถูกต้องและเหมาะสมจะทำให้ผู้ใช้ยาได้ประโยชน์สูงสุดจากยา และลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ยาได้ยาเม็ดพาราเซตามอลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจะมีตัวยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ขนาดและวิธีใช้ยา
ยาเม็ดพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด แนะนำให้รับประทานตามช่วงน้ำหนักตัวโดยแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ถึง 6 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 4 ครั้ง เฉพาะเวลาที่มีอาการ ปวดหรือมีไข้
น้ำหนักตัว น้อยกว่า 35 กิโลกรัม ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยา เพื่อคำนวณขนาดยาที่เหมาะสม
น้ำหนักตัว ตั้งแต่ 35 ถึง 50 กิโลกรัม รับประทานยา ครั้งละ 1 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
น้ำหนักตัว 50 ถึง 67 กิโลกรัม รับประทานยา ครั้งละ หนึ่งเม็ดครึ่ง แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
น้ำหนักตัวมากกว่า 67 กิโลกรัม รับประทานยา ครั้งละ 2 เม็ดแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงจากยาพาราเซตามอลที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ภาวะพิษต่อตับ (Hepatotoxicity) โดยทั่วไปเกิดจากการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด การรับประทานยาที่ถี่เกินไป เว้นระยะห่างแต่ละครั้งไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
คำแนะนำในการใช้ยา
1. หากใช้ยาพาราเซตามอลในการลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคบกพร่อง G6PD โรคตับหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
3. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาพาราเซตามอล หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการต้องสงสัยแพ้ยา เช่น บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืดผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ร.ต.ท.เภสัชกร พงษ์พันธ์ ไชยภักดิ์
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ
คณะทำงานประชาสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ขออนุญาตเผยแพร่ภาพและข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีภาพบุคคลในกิจกรรมดังกล่าว