Slide background
Slide background
Slide background
Slide background

+ รู้เท่าทัน ก่อนทานสมุนไพร-อาหารเสริม

โพสต์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2556 เวลา 00:00:00 | มุมสุขภาพ (Health Update)

  • 4408 ครั้ง

 

 

        ช่วงนี้อาหารสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะมาในรูปแบบอาหารเสริม ยา หรือสมุนไพร
การโฆษณาชวนเชื่อก็น่าสนใจทั้งนั้น เราไม่ต้องมองไกลตัว มองแค่เรื่องเล็ก ๆ เช่น เรากระหายน้ำ เดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ เราก็เกิดอาการตัดสินใจไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะหยิบน้ำชนิดไหนดี ตอนแรกตั้งใจว่าจะซื้อแค่น้ำเปล่า แต่ไปเจอน้ำที่ผสมนั่นผสมนี่ มีพรีเซ็นเตอร์รูปร่างดีหน้าขาวใส เราก็อาจจะเปลี่ยนใจ คิดว่าเพิ่มเงินอีกหน่อยเพื่อสุขภาพทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วน้ำเปล่าอาจมีประโยชน์มากกว่า 

            เพื่อน ๆ และคนรอบตัวฉันก็มีหลายคนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย และพยายามใส่ใจสุขภาพโดยการรับประทานอาหารเสริม ยาบำรุง และหากอยู่ในวัยสูงอายุหน่อยก็มักเป็นกลุ่มสมุนไพร ซึ่งอาหารสุขภาพเหล่านี้ หากผ่านการรับรองก็ดูเหมือนจะปลอดภัย แต่ฉันอยากจะแนะนำว่าก่อนจะรับประทานอะไร  เราควรศึกษาข้อมูลถึงประโยชน์และข้อจำกัดให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน เพราะแทนที่จะได้รับประโยชน์กลับได้รับโทษแทน อย่างกรณีตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ...

          ป้าเนย เป็นข้าราชการเกษียณที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมาก แต่ก็มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ
ป้าเนยไปหาหมอตามนัดทุกครั้งไม่เคยขาดยา สนใจและดูแลตัวเองดีมาก ๆ จนหมอถึงกับออกปากชม  แต่มาช่วงหลังพบว่าตามร่างกายป้ามีรอยฟกช้ำมีรอยจ้ำเลือดง่ายขึ้น บางทีก็มีเลือดออกตามไรฟัน ป้ารู้สึกไม่สบายใจและรู้สึกกลัวจึงกลับไปหาหมอประจำตัวอีกครั้ง หมอก็พยายามหาสาเหตุของความผิดปกติ ในที่สุดก็ได้ทราบว่าป้าทานแปะก๊วยมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพราะมีเพื่อนมาแนะนำบอกว่าทานแล้วดี ป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ 

          พอทราบสรรพคุณ ป้าก็ไม่รอช้ารีบจัดหามาทานทันทีอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด ตามสูตรป้าเนยรักสุขภาพ แต่ไม่อยากจะเชื่อว่า...เจ้าแปะก๊วยนี่แหละคือ สาเหตุของรอยจ้ำเลือดตามตัวป้า หมออธิบายให้ป้าฟังว่า แปะก๊วยไปเสริมฤทธิ์กับยาแอสไพรินที่ป้าทานเพื่อต้านการแข็งตัวของเลือดในโรคหัวใจ หากป้าไม่มาพบแพทย์และยังทานแปะก๊วยไปเรื่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อภาวะมีเลือดออกไปในสมองได้ ป้าเนยฟังหมออธิบายแล้ว เข็ดขยาดไปเลยกับการซื้อยาหรืออาหารสุขภาพมาทานเองโดยไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ รู้จักใครก็จะบอกเล่าให้ฟัง ไม่อยากให้พลาดพลั้งเหมือนป้า

          สำหรับตัวฉันเอง ทั้ง ๆ ที่มีความรู้อยู่บ้าง ก็เคยพลาดมาแล้วเหมือนกัน เพราะพอแม่เข้าสู่วัยทองก็รู้ว่าแคลเซียมในร่างกายจะลดลง ฉันพาแม่ไปตรวจสุขภาพหมอก็จ่ายแคลเซียมให้ไปบำรุงกระดูกสมใจ พอยาหมด ฉันก็จัดหาไปให้แม่ทานอย่างต่อเนื่อง แม่ก็น่ารักมาก...ทานตลอดไม่เคยขาด จนวันหนึ่งแม่มีอาการปัสสาวะลำบาก เมื่อพาไปพบหมอทำให้ทราบสาเหตุว่า เกือบจะเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะเพราะแคลเซียมที่ลูกซื้อไปบำรุงกระดูกให้ท่านนี่แหละ...

          ฉันคิดว่าเรื่องนี้คงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้าง จึงศึกษาและรวบรวมข้อมูลอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยม เพื่อให้ทุกคนได้รู้เท่าทันก่อนที่จะไปซื้อหามารับประทานกัน เรามารักสุขภาพอย่างปลอดภัยกันดีกว่านะคะ

 


 

1. น้ำมันพริมโรส

ประโยชน์ : ลดอาการปวดประจำเดือน ลดอาการปวดข้อจากโรครูมาตอยด์ ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น

ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยลมชัก  ป่วยโรคจิต

 

 

 

2. แคลเซียม

ประโยชน์ : เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันกระดูกพรุน

ข้อควรระวัง : อาจเพิ่มการขับแคลเซียมในปัสสาวะเกิดโรคนิ่วในไต หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

 

 

 

 

 3. สาหร่าย สไปรูไลน่า

ประโยชน์ :  แหล่งโปรตีนคุณภาพสูงย่อยดูดซึมง่าย อุดมด้วยธาตุเหล็ก
โฟลิกแอซิดช่วยสร้างเม็ดเลือด

ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ได้รับการให้เลือดบ่อย

 

 

 4. แปะก๊วย

ประโยชน์ : ช่วยเรื่องความจำ ลดอาการหลงลืมในผู้สูงอายุ  ลดอาการเวียนศีรษะและ
เสียงในหูของผู้สูงอายุ

ข้อควรระวัง : ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคทางสมอง 
ผู้ที่รับประทานยาต้านการอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อ (NSAIDs) ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบมาก

 

 

 5. โสม

ประโยชน์ : ช่วยบำรุงหัวใจป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด เสริมประสิทธิภาพทางเพศในผู้ชาย
 ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

ข้อควรระวัง :   ผู้ที่ได้รับต้านการแข็งตัวของเลือด  ผู้ที่ได้รับยาลดความดันกลุ่ม nifedepine 
ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบมาก

 

 

6. เห็ดหลินจือ

ประโยชน์ :  บำรุงไต ต้านไวรัสหลายชนิด   มีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคงูสวัด

ข้อควรระวัง :ผู้ที่ตับอักเสบมาก ผู้ที่มีค่าเอนไซม์การทำงานของตับผิดปกติ

 

7. มะรุม

ประโยชน์ :   มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับน้ำตาลในเลือด 
ลดความดันโลหิต ป้องกันภาวะสมองเสื่อม

ข้อควรระวัง :  เด็กและสตรีมีครรภ์   สตรีที่มีโอกาสตั้งครรภ์  ผู้ป่วยโรค G6PD
หรือภาวะพร่องเอนไซม์ จีซิกพีดี


 

.....................................

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

แชร์ข่าวนี้ :
Top