"เสี่ยงเป็นไส้ติ่งอักเสบ เสียชีวิตได้ เป็นยังไงนะครับ"
หลายๆท่านอาจเคยได้ยินข่าว
เด็กหรือผู้สูงอายุปวดท้องหรือมีไข้
มาตรวจที่โรงพยาบาลด้วยวินิจฉัยตามอาการ จากนั้นรับยาแล้วสุดท้ายมาพบในภายหลังว่า เป็นไส้ติ่งอักเสบแตกและต้องพบกับความสูญเสียในตอนจบของเรื่อง...
ในฐานะหมอผ่าตัด ผมขอบอกเลยว่า
ไส้ติ่งอักเสบที่เป็นโรคที่พบบ่อยมีผ่าตัดกันทุกวันบางวันชุกชุมถึงขั้นมีคนไข้เข้ามาในความดูแลนับสิบ
ถ้ามองเป็นเรื่อง หมูๆ สำหรับการเริ่มผ่าตัดเข้าในช่องท้องคนไข้ ของหมอฝึกหัดทั้งหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็น
"การผ่าตัดหมูๆ...ที่ไม่หมู(จริง)!!!" 
ก่อนจะรู้ว่าอาการนำมาได้ด้วยอะไรบ้าง
สิ่งแรกที่ควรต้องรู้คือกายวิภาคหรือไส้ติ่งนี้อยู่ตรงไหน และรูปร่างเป็นอย่างไร เพราะด้วยตำแหน่ง
และรูปร่างนี้เองที่จะสามารถอธิบายได้ว่าทำไมอาการของคนไข้บางคน จึงไม่ได้ตรงไปตรงมา เหมือนไส้ติ่งอักเสบปกติที่พบทั่วไป
..ไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้าย ท่อ..
รูปร่างคล้ายหนอนอ้วนหรือคล้ายนิ้วมือของคน ขนาดใหญ่เล็กได้ตั้งแต่ขนาดเท่านิ้วก้อยเด็กไปจนถึงอ้วนล่ำแบบนิ้วโป้งผู้ใหญ่
ยาวได้ตั้งแต่ไม่กี่เซ็นติเมตรจนบางครั้งยาวกว่าคืบ หรือปาไปถึงครึ่งศอกได้ก็เคยเจอมาแล้ว 
ตำแหน่งอยู่ตรงท้องน้อยด้านขวาตรงที่ปลายสุดของลำไส้เล็ก(Ileum)ต่อเนื่องกับส่วนต้นของลำไส้ใหญ่(Cecum)
ดังนั้นอาการหลักที่น่าเชื่อถือมากที่สุดสำหรับทางการแพทย์ที่จะสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งคือ **ปวดท้องน้อยด้านขวา!!!**
แต่!!!!
สำหรับคนทั่วไปที่ต้องรู้นั้นคือไม่ใช่ทุกคนที่จะเริ่มปวดที่ท้องน้อยด้านขวาในทันที แต่อาการแห่งความไม่สบายตัวนั้นจะเริ่มจากมีการอุดตันหรือบวมในส่วนโคนของท่อลำของไส้ติ่งจากนั้นกระบวนการอักเสบก็จะเริ่มต้น ตั้งแต่ ปวดแน่นท้องไปทั่วๆ อึดอัด พะอืดพะอม เหมือนมีลมดันหรือลมวิ่งในช่องท้องโดยเฉพาะใต้ลิ้นปี่เพราะฉะนั้นอาการในช่วงแรกเริ่มจึงคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบ(นี่จึงเป็นเหตุอธิบายว่าเหตุใดเมื่อมาหาหมอในช่วงแรกอาจได้รับคำแนะนำให้ดูอาการปวดท้องหรือได้รับยารักษาในกลุ่มรักษากระเพาะอาหารอักเสบ)
พอการอักเสบมีมากขึ้นอาการแน่นๆท้องแบบระบุอาการไม่ได้แน่ชัดในตอนแรกจะเปลี่ยนเป็นปวดท้องตรงตำแหน่งท้องน้อยด้านขวา โดยปวดนั้นมักจะปวดบีบๆเป็นช่วงๆ คือมีช่วงที่ปวดและมีช่วงที่พักอาการปวด สลับกันไปเป็นช่วงๆจนการอักเสบมากขึ้น
ความถี่ในการปวดจึงกระชั้นถี่ขึ้นความแรงปวดมากขึ้นช่วงพักปวดน้อยลง จนสุดท้ายนำไปสู่อาการที่
คนไข้มักบอกว่า"ปวดอยู่เกือบตลอดเวลา"
รวมถึงอาจจะเริ่มมีไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว
มีคลื่นไส้จนอาเจียน อาจจะมีท้องเสียถ่ายเหลว
ได้น้อยๆครั้ง หรือบางครั้งปวดคล้ายจะอยากเข้าห้องน้ำถ่ายหนักแต่ปรากฏว่าพอถ่ายหนักเสร็จก็ไม่ได้หายปวดท้อง(อาการในช่วงนี้จะคล้ายกลุ่มโรคอาหารเป็นพิษหรือลำไส้อักเสบ)



สรุปอาการคือ
ไข้
ปวดท้องน้อยด้านขวา
และคลื่นไส้อาเจียน



ส่วนอาการที่จะเล่าให้ฟังต่อจากนี้จะเป็นอาการที่ไม่ได้พบเป็นหลัก พบได้เป็นเฉพาะชนิดของการอักเสบและตำแหน่งที่ปลายไส้ติ่งชี้นำไป
*ปัสสาวะขัดๆ ปวดหน่วงท้องน้อย(ปลายไส้ติ่งที่อักเสบชี้นำไปในทิศทางของอุ้งเชิงกรานหรือปลายวางแปะอยู่ใกล้ๆท่อไตด้านหลัง
*ปวดเอวร้าวไปหลังร่วมกับมีไข้ต่ำๆ(อาการคล้ายโรคกรวยไตอักเสบ)ปลายไส้ติ่งชี้นำไปในทิศทางด้านหลังของช่องท้อง
ส่วนในกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจหรือสังเกตอาการเป็นพิเศษเนื่องจากอาการนำอาจจะไม่ชัดได้แก่
ผู้สูงอายุเพราะด้วยโรคประจำตัวบางอย่างอาจเป็นข้อจำกัดในการแสดงอาการของโรคเช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรังนอนติดเตียงที่ทำให้การสื่อสารและลักษณะการแสดงอาการไม่ตรงไปตรงมา จนในบางคนที่มาพบอาการนำเพียงไข้สูงแต่ปรากฏว่าไส้ติ่งอักเสบจนแตกแล้ว
กลุ่มผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มโรคเบาหวานที่อาจจะไม่แสดงอาการปวดมากจากการทำงานที่น้อยลงของระบบประสาทและภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการอักเสบ แต่ถ้าพบการอักเสบแล้วมักจะมีอาการนำไปสู่ความรุนแรงและอันตราย(การติดเชื้อในกระแสเลือด)ได้มากกว่าคนปกติ
กลุ่มเด็กที่นอกจากบอกอาการได้ไม่ชัดแล้ว ในเด็กเล็กยิ่งเป็นการยากที่จะบอกอาการ โดยส่วนใหญ่อาการแสดงให้สงสัยไว้ก่อนในกรณีเด็กเล็กคือ ร้องกวนโยเย ทานนมหรืออาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร อาเจียน และที่สำคัญคือมีไข้
สิ่งสำคัญหรือหัวใจของการจะวินิจฉัยได้และนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีโดยปลอดภัยไม่มีผลแทรกซ้อนและอาการอันไม่พึงประสงค์แล้ว
ต้องประกอบด้วย**3ต้อง**


ต้องแรกคือ
"ต้องมีความสงสัยก่อน"
ความเอ๊ะ!! ต้องเกิดขึ้นถ้าจากเดิมปกติไม่มีอาการผิดปกติใดใด แต่ต่อมามีอาการดังที่กล่าวข้างต้น
สำคัญที่ไม่น้อยกว่าข้อแรกคือ
"ต้องคอยติดตามอาการ"เพราะโรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่ค่อยๆพัฒนาการอักเสบเป็นลำดับ อาการตอนแรกอาจไม่ชัดแต่เมื่อการอักเสบมากขึ้น อาการแสดงก็จะชัดเจนมากขึ้น เมื่อชัดเจนมากขึ้นแล้ว
"ต้องรีบเข้ารับการตรวจรักษา"ไม่รอช้า เพราะเมื่อการอักเสบเกิดขึ้นแล้ว มันจะไม่มีการหยุดหรือถอยหลังอาการกลับไปสู่อาการปกติได้ การรักษาที่รวดเร็วจะนำไปสู่การฟื้นตัวและปลอดภัย รวมถึงผลลัพธ์ที่ดี
ติ่งเล็กๆแต่นำเรื่องไม่เคยเล็กมาได้เสมอ..
ถ้าไม่ได้เอะใจ
สงสัยสังเกตและติดตามอาการคือหัวใจสำคัญ ก่อนนำสู่การรักษา
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ขออนุญาตเผยแพร่ภาพและข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีภาพบุคคลในกิจกรรมดังกล่าว
