Slide background
Slide background
Slide background
Slide background

แพทย์ อธิบายเส้นเลือดฟอกไต คืออะไร

โพสต์เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 เวลา 15:29:52 | มุมสุขภาพ (Health Update)

  • 3219 ครั้ง

คุณหมอครับ วันนี้จะมาติดต่อทำเส้นเลือดไว้ฟอกไตครับ”

“ผมขอทำเส้นเลือดจริงได้มั้ยครับ เมื่อกี๊คุณป้าข้างๆ บอกว่าทำเส้นเลือดเทียมแล้วอยู่ได้ไม่นานก็ดับครับ”

เดี๋ยววันนี้ผมจะมาอธิบายให้ครับ สำหรับคำถามที่ยังอยู่ในใจคนไข้โรคไตหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่จะมาทำการผ่าตัดเส้นเลือดในครั้งแรก ว่า”เส้นเลือดฟอกไต”ที่เราๆ เรียกกันนั้น มันคืออะไร ต่างกันยังไง แล้วเราจะทำแบบไหนดี ทำแล้วอยู่ได้นานมั้ย

.

- - - - - - - -

เส้นเลือดฟอกไต คืออะไร

- - - - - - - -

เส้นเลือดฟอกไต เป็นเส้นเลือดที่ผมในฐานะหมอผ่าตัดเส้นเลือด ทำขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ฟอกไต (Hemodialysis) ได้ เนื่องจากการเข้าเครื่องฟอกไต จะต้องใช้ความเร็วในการไหลเวียนเลือดที่สูง เส้นที่ใช้ฟอกจะต้องมีคุณลักษณะ คือ ทนต่อแรงดันสูงๆ ได้ ทนต่อความเร็วเลือดที่มากๆ ได้ และที่สำคัญคือสามารถแทงได้ง่าย โอกาสแทงพลาดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย (เพราะต้องแทงกันอยู่บ่อยๆ)

.

พวกผมจึงต้องหาเส้นที่แขน หรือที่ขา ที่จะให้คุณพยาบาลแทงเข็มได้ง่ายๆ เส้นที่พวกผมเลือกใช้ ก็คือ เส้นเลือดดำชั้นตื้น (Superficial vein) ครับ

แต่เนื่องจากเส้นเลือดดำของคนเรานั้น มันบาง ไม่สามารถรับแรงดันมากๆ ได้ เส้นขนาดเล็ก จึงต้องเอาเส้นเลือดดำเล็กๆ นี้ ไปต่อเข้ากับเส้นเลือดแดงครับ

.

หลังจากที่ต่อไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง เส้นเลือดดำของเราจะขนาดใหญ่ขึ้น (เพราะแรงดันของเส้นเลือดแดงที่ผมต่อไว้น่ะครับ) มีผนังที่หนาขึ้น และสุดท้ายก็จะพร้อมใช้งาน

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการทำเส้นเลือดฟอกไต “แบบเส้นเลือดจริง” (Arteriovenous fistula; AVF)

.

สำหรับเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous bridge graft; AVBG) จะเป็นการต่อท่อขนาด 6 มิลลิเมตร ฝังไว้ใต้ชั้นผิวหนังตื้นๆ เชื่อมระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำครับ

.

- - - - - - - -

ว่าด้วยเรื่องเส้นฟอกไตแบบเส้นจริง (AVF)

- - - - - - - -

เส้นเลือดฟอกไตแบบเส้นจริง ตามที่ได้บอกไปครับ คือผมจะเอาเส้นเลือดดำมาต่อกับเส้นเลือดแดง ....แต่ๆๆๆๆๆ ไม่ใช่ว่าคนไข้ทุกๆ คนจะทำได้นะครับ เนื่องจากมีโอกาสที่ต่อไปแล้ว เส้นไม่โต และใช้งานไม่ได้ครับ (เส้นเลือดโดนแทงน้ำเกลือ โดนเจาะเลือดมาบ่อยๆ มักจะมีผังผืด หรือเส้นตีบเล็ก ไม่โตครับ)

.

แต่ถ้าทำเส้นจริงได้สำเร็จ!!! เส้น”มักจะ”ใช้งานได้ยาวนานกว่า โอกาสเกิดการติดเชื้อน้อยกว่า โอกาสที่เส้นจะดับจากความดันตกระหว่างการฟอกก็น้อยกว่าครับ

.

AVF ที่บอกนี้ มักจะต้องใช้เวลาในการที่เส้นจะโตขึ้น หนาขึ้น เฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ขึ้นไป ขึ้นกับเส้นเลือดของคนไข้นะครับ

คนไข้คนไหน ‘สามารถรอได้’ ‘ค่าไตยังไม่แย่มาก’ การทำ AVF นี้จะดีที่สุดครับ

.

- - - - - - - -

ว่าด้วยเรื่องเส้นฟอกไตแบบเส้นเทียม (AVBG)

- - - - - - - -

เส้นเลือดฟอกไตแบบเส้นเทียม เป็นเส้นที่พวกผมฝังเข้าไปใต้ชั้นผิวหนังของคนไข้ครับ นึกภาพง่ายๆ ก็เหมือนแทนเส้นเลือดจริง ที่โตแล้วน่ะครับ ทำให้สามารถใช้ฟอกไตได้หลังจากทำเส้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ (รอยุบบวม และรอให้เส้นเลือดเทียมเกาะกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเราให้ดี)

.

ถึงจุดนี้ต้องถามผมแน่ๆ ว่าทำไมไม่ฝังเส้นเทียมให้หมดเลย จะได้ไม่ต้องรอ ใช่มั้ยครับ? เนื่องจากเส้นเทียมนั้นมีข้อเสียตรงที่ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า มีระยะเวลาการใช้งานที่สั้นกว่า นอกจากนี้ยังมีโอกาสเส้นดับเวลาความดันตกระหว่างฟอกไตได้มากกว่าด้วยครับ

.

พวกผมมักจะเลือกทำเส้นฟอกไตแบบเส้นเลือดเทียมเมื่อ

- เส้นเลือดคนไข้มีขนาดเล็ก มีโอกาสทำ AVF ไปแล้วเส้นไม่โต (เส้นเลือดไม่เหมาะจะทำ AVF)

- คนไข้ต้องรีบใช้งาน แต่ยังพอมีเวลารอได้ซัก 2-4 สัปดาห์

.

- - - - - - - -

การใช้งาน และการดูแลรักษาเส้นฟอกไตแต่ละแบบ

- - - - - - - -

การดูแลรักษาเส้นทั้งสองแบบนั้นเหมือนกันครับ การกดหยุดเลือดในแต่ละครั้งหลังฟอกไตเป็นสิ่งสำคัญ โดยมักจะแนะนำให้ใช้มือกด มากกว่าการใช้สายรัด เนื่องจากการใช้สายรัด มีโอกาสทำให้เส้นดับได้ ความแน่นของการรัดในคนไข้แต่ละคนไม่เท่ากัน

.

นึกภาพง่ายๆ นะครับ ถ้าเราเจาะรูสายยางที่เปิดน้ำอยู่ น้ำก็จะพุ่งออกไปทางรูที่เราเจาะ แต่ถ้าเอาสายไปรัด ก็เหมือนกับเอาเท้าเหยียบสายยางเส้นนั้นครับ ถ้าเหยียบไม่แรงมาก น้ำก็ยังผ่านได้ เส้นก็ไม่ดับครับ แต่เส้นเลือดเทียมอาจจะเสียหายได้

จะดีกว่ามั้ยถ้าเราแค่เอานิ้วไปกดตรงที่เป็นรูเจาะ ใช้แรงกดแค่พอสู้กับแรงดันเลือดได้

เท่านี้ก็หยุดแล้วครับ ไม่ต้องกลัว

.

ในคนไข้ที่ทำเส้นฟอกไต แล้วใช้แทงเข็มที่แขนท่อนล่าง ให้ระวังเรื่องการพับข้อศอกไว้นานๆ เช่น การที่คนไข้นั่งเอามือเท้าคาง (นึกออกกันใช่มั้ยครับ เหมือนเวลานั่งหลับ ศอกอยู่บนโต๊ะ แล้ววางศีรษะไว้บนมือน่ะครับ) การทำท่านี้นานๆ สามารถทำให้เส้นดับได้นะครับ ขอเตือนไว้ก่อนมีคนไข้มาหลายคนแล้วครับ

.

- - - - - - - -

ว่าด้วยเรื่องแขนบวมหลังทำเส้นฟอกไต

- - - - - - - -

หลังทำเส้นฟอกไตเสร็จในทันที หลังจากที่พวกผมปล่อยเลือดให้เข้าไปที่เส้นเลือดดำแล้วนั้น คนไข้จะรู้สึกปวดแขนขึ้นมาในทันที เนื่องจากเป็นการเพิ่มแรงดันของเลือดเข้าไปในเส้นเลือดดำ เกิดการขยายตัวฉับพลันครับ

.

หลังจากกลับบ้านไปแล้ว เส้นเลือดดำยังคงมีการขยายตัวเพื่อรับเลือดอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้สึกแขนบวมๆ ได้ครับ เป็นอาการที่ปกติ และมักจะอาการดีขึ้นเรื่อยๆ บวมน้อยลงเรื่อยๆ ใช้เวลาโดยประมาณ 4 สัปดาห์ ครับ

.

ในคนไข้ที่แขนบวมไม่หาย ถึงแม้ว่าเวลาผ่านไป 4-8 สัปดาห์แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า เส้นเลือดดำที่อยู่ในอก มีอาการตีบแคบ หรือที่เรียกว่า Central vein stenosis ครับ

เกิดจากการที่คนไข้เคยใส่สายฟอกไตที่คอ (DLC) หรือที่อก (TCC or PERM) ครับ เอาไว้ผมจะมาอธิบายในบทความหน้านะครับ

ถ้าแขนบวมมากๆ อาจจะต้องมาฉีดสี หรือมาบอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดในช่องอกต่อไปครับ

คุณหมอผ่าตัดทุกๆ คน อยากจะผ่าตัดคนไข้ด้วยความปลอดภัยมากที่สุด เพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดีที่สุดนะครับ

เพราะ “ผลการรักษา คือความปรารถนาของเรา”

แชร์ข่าวนี้ :
Top